พื้นที่วิจัย

การวิจัยนี้จึงได้ทำการศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชากรกลุ่มเปราะบางที่เป็นชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคโคโลน่าไวรัส (โควิด-19) ที่ทำให้พวกเขาเข้าไม่ถึง บริการของรัฐจากมาตรการดูแลและเยียวยาของรัฐบาลไทย เพื่อวิเคราะห์ถึงช่องโหว่ของข้อมูลที่ประชากร กลุ่มเปราะบาง ที่เป็นชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยไม่สามารถเข้าถึง การบริการสาธารณะจากภาครัฐ ดังกล่าวโดยทำการศึกษาจาก 4 กลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นประชากรชนเผ่าพื้นเมือง กลุ่มเปราะบางที่สุด คือ มละบริ มอแกน มานิ และกะเหรี่ยงโพล่ง (ในพื้นที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่)


มละบริ เป็นชนเผ่าพื้นเมืองในกลุ่มล่าสัตว์และเก็บหาของป่า อาศัยในแถบป่ารอยต่อของจังหวัดแพร่และจังหวัดน่าน ทางภาคเหนือของประเทศไทย ปัจจุบันมีการตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนถาวรทั้งหมด 5 ชุมชน โดยอาศัยอยู่ในจังหวัดแพร่ 2 ชุมชน คือ ชุมชนห้วยฮ่อมพัฒนา และชุมชนท่าวะ และจังหวัดน่าน 3 ชุมชน คือ ชุมชนห้วยหยวก ชุมชนห้วยลู่ และชุมชนภูฟ้า ประชากรจากการสำรวจล่าสุดมีประมาณ 396 คน เป็นชาย 188 คน และหญิง 208 คน ประชากรที่มากที่สุดอยู่ในชุมชนห้วยหยวก 147 คน รองลงมาเป็นชุมชนห้วยฮ่อม 92 คน


ชนเผ่าพื้นเมืองมละบริทุกคนมีสถานะพลเมืองไทย ได้รับสวัสดิการพื้นฐานด้านการรักษาพยาบาลจากภาครัฐ เด็กได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานจากสถานศึกษาในชุมชน แต่พวกเขายังมีปัญหาด้านการประกอบอาชีพ ภายหลังจากการหยุดเคลื่อนย้ายที่และเก็บหาของป่าเพื่อยังชีพเปลี่ยนมาเป็นการทำเกษตรกรรม พวกเขายังขาดปัจจัยการผลิตในการทำการเกษตร โดยเฉพาะที่ดิน มีเพียงไม่กี่ครัวเรือนที่มีที่ดินทำกินในชุมชนห้วยฮ่อมพัฒนาและชุมชนภูฟ้า แต่ส่วนใหญ่แล้วยังไร้ที่ดินทำกินเป็นของตนเอง การเช่าที่ดินและการเป็นแรงงานรับจ้างในภาคเกษตรกรรมจึงยังเป็นอาชีพหลักของพวกเขา การวิจัยนี้ได้เลือกชุมชนมละบริ 2 ชุมชน คือ ชุมชนห้วยฮ่อมพัฒนา จ.แพร่ เป็นตัวแทนกลุ่มที่มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน กับชุมชนห้วยหยวก จ.น่าน เป็นตัวแทนกลุ่มที่ไม่มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย


กะเหรี่ยงโพล่ง เป็นชนเผ่าพื้นเมืองในกลุ่มย่อยของกะเหรี่ยงซึ่งถือเป็นชนเผ่าพื้นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดในประเทศไทย กระจายตัวอยู่ในเขตพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันตกของประเทศไทย โดยกะเหรี่ยงโพล่งจะอยู่ในพื้นที่ป่าตามแนวตะเข็บชายแดนระหว่างไทยกับเมียนมาร์ ปัจจุบันยังไม่มีการระบุได้ชัดเจนว่ามีประชากรของชาวกะเหรี่ยงโพล่งจำนวนเท่าไหร่


แม้ว่าชุมชนกะเหรี่ยงโพล่งจะเป็นชุมชนถาวร และประชากรส่วนใหญ่ของพวกเขาจะได้รับสวัสดิการและบริการขั้นพื้นฐานด้านการรักษาพยาบาลและบริการอื่นๆ ที่รัฐจัดให้เหมือนกับชุมชนท้องถิ่นอื่นๆ ก็ตาม แต่กะเหรี่ยงโพล่งตามแนวตะเข็บชายแดนและอยู่ในป่าลึกยังเป็นประชากรที่ไร้สถานะพลเมืองไทย และอยู่ระหว่างดำเนินการขอสัญชาติอยู่ กลุ่มนี้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินนโยบายอนุรักษ์ป่าไม้ของรัฐ เช่นการประกาศเขตป่าอนุรักษ์ทับที่ทำกิน ถูกยึดพื้นที่ทำกิน เนื่องมาจากการดำเนินงานตามนโยบายทวงคืนผืนป่าเป็นต้น ทำให้ชาวบ้านส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบ และไม่มีที่ทำกิน การวิจัยนี้ได้เลือกชุมชนกะเหรี่ยงโพล่งในพื้นที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐมาเป็นพื้นที่วิจัย โดย 1 ชุมชน เป็นชุมชนหลัก อีก 1 ชุมชนเป็นชุมชนบริวาร ของหมู่บ้านหลัก



มอแกน เป็นชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ตามเกาะแก่งต่างๆ ทางภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน เป็นชนเผ่าพื้นเมืองที่ยึดถือการประกอบอาชีพจับสัตว์ทะเลเป็นหลัก เป็น 1 ใน 3 ของกลุ่มชาวเล ซึ่งประกอบด้วย มอแกน มอแกลน และอูรักลาโว้ย ชาวมอแกนเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางมากที่สุดในกลุ่มของชาวเล เนื่องจากอยู่ตามเกาะในพื้นที่ห่างไกล การเดินทางเข้าสู่ชุมชนต้องใช้เรือเป็นหลัก ประชากรส่วนใหญ่อยู่ใน 3 เกาะของจังหวัดระนองที่มีพื้นที่เป็นแนวชายแดนฝั่งทะเลระหว่างไทยกับเมียนมาร์ ได้แก่ เกาะเหลา เกาะช้าง และเกาะพยาม และอีก 1 เกาะคือเกาะสุรินทร์ อยู่ในจังหวัดพังงา ประชากรชาวมอแกนไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ที่ยังไม่มีสถานะทางทะเบียนและเป็นพลเมืองไทย


การอาศัยอยู่ตามเกาะของชาวมอแกนที่มีความยากลำบากในการเดินทาง จึงส่งผลให้การเข้าถึงบริการของภาครัฐยากลำบากด้วยเช่นกัน ประชากรส่วนใหญ่จึงไม่รู้หนังสือ เด็กๆ เข้ารับการศึกษาจากสถานศึกษาใกล้เคียง แต่ส่วนมากจะไม่สำเร็จการศึกษา การรักษาพยาบาลจะใช้การดูแลตามวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมแม้กระทั่งการคลอดบุตรก็เป็นไปตามธรรมชาติ


การวิจัยนี้ได้เลือก 2 ชุมชนมอแกนเป็นพื้นที่วิจัย คือ ชุมชนมอแกนเกาะเหลา เป็นตัวแทนชาวมอแกนที่ประชากรส่วนใหญ่มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎร และชุมชนมอแกนเกาะช้าง ที่ประชากรส่วนใหญ่ไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎร



มานิ เป็นชนเผ่าพื้นเมืองในกลุ่มเก็บหาของป่าและล่าสัตว์ อาศัยอยู่ในเทือกเขาบรรทัดทางภาคใต้ ซึ่งเป็นป่ารอยต่อของ 4 จังหวัด ได้แก่ ตรัง สตูล พัทลุง และสงขลา ชาวมานิส่วนใหญ่มีสถานะเป็นพลเมืองไทยแล้ว มีเพียงส่วนน้อยที่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทยและอยู่ระหว่างการดำเนินการ จากการสำรวจล่าสุดในปี 2560 มีชาวมานิอยู่ 12 กลุ่ม แบ่งเป็นกลุ่มที่ตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชน 6 กลุ่ม ในพื้นที่จังหวัดตรัง สตูล และสงขลา และอีก 6 กลุ่มในพื้นที่จังหวัดสตูลและพัทลุงยังเร่ร่อนโยกย้ายถิ่นที่อยู่ไปตามแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ในป่าโดยกระจายเป็นกลุ่มเล็กๆ 10 – 30 คน


ชาวมานิที่ตั้งถิ่นฐานถาวรเป็นชุมชน ดำรงชีพด้วยการทำสวนยางพาราที่ได้เรียนรู้และได้รับการสนับสนุนจากชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่แต่ก็ยังไม่ได้รับการจัดสรรที่ดินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และบางส่วนยังมีสถานะเป็นลูกจ้างในสวนยางพารา ทำหน้าที่ดูแลสวนยางให้กับคนชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ กลุ่มที่อยู่ในพื้นที่ป่าลึก การเข้าถึงยากลำบาก ยังมีบางส่วนที่ไม่ได้รับสถานะพลเมืองไทย เช่น กลุ่มเขาติง และเขาหัวสุม


สำหรับชาวมานิที่มีการเคลื่อนย้ายตามแหล่งอาหารในพื้นที่จังหวัดสตูลเป็นกลุ่มที่ยังไม่ได้รับสถานะพลเมืองไทยเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากไม่มีผู้ให้ความช่วยเหลืออย่างจริงจัง ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มในพื้นที่จังหวัดพัทลุงที่มีผู้มีจิตอาสาให้ความช่วยเหลือชาวมานิ จึงทำให้พวกเขาได้รับสถานะพลเมืองไทยเกือบ 100 % นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 ภายหลังจากมูลนิธิ IPF เข้าไปดำเนินการจัดทำระบบฐานข้อมูลตามโครงการ KPEMIC



การวิจัยนี้ได้เลือก 2 ชุมชนมานิเป็นพื้นที่วิจัย คือ ชุมชนมานิโหล๊ะหาร เป็นตัวแทนชาวมานิที่ยังเคลื่อนย้ายแต่มีผู้มีจิตอาสาให้การช่วยเหลือ และชุมชนมานิคลองหว๊ะหลังที่มีการเคลื่อนย้ายชุมชนอย่างอิสระไม่มีผู้มีจิตอาสาให้การช่วยเหลือ

แผนที่แสดงตำแหน่งที่ตั้งชุมชนของชนเผ่าพื้นเมืองกลุ่มเปราะบางที่สุดในประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

ประชากรชนเผ่าพื้นเมืองทั้ง 8 ชุมชน เปรียบเทียบกับประชากรหลักที่มีอยู่ในหมู่บ้านหลักยกเว้นกะเหรี่ยงโพล่งบ้านมังปอยที่มีประชากรในหมู่บ้านหลักเป็นกะเหรี่ยงเช่นเดียวกัน ประชากรชนเผ่าพื้นเมืองมีสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 30 ของประชากรหลัก และในกลุ่มมานิทั้งสองหมู่บ้านมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 3 – 4 ของประชากรหลักเท่านั้น

การจัดอันดับเร่งรัดพัฒนาของกรมการพัฒนาชุมชนที่เป็นภาพรวมของหมู่บ้านต่างๆ หมู่บ้านในกลุ่มก้าวหน้า 3 หมู่บ้านที่มีชาวมอแกน และชาวมานิอยู่ร่วมด้วยนั้น ชาวมานิและมอแกนไม่ได้ถูกนับเป็นประชากรของหมู่บ้านหลัก เนื่องจากประชากรชาวมอแกนในเกาะช้างเป็นประชากรไร้สัญชาติและอยู่ระหว่างดำเนินการด้านสัญชาติทั้งหมดมีฐานข้อมูลทางทะเบียนอยู่ที่หมู่บ้านเกาะเหลาจึงไม่ถูกนับเป็นประชากรของหมู่บ้านเกาะช้าง สำหรับชาวมานิทั้งสองหมู่บ้านยังมีการเคลื่อนย้ายไปตามแหล่งอาหาร การมีชื่ออยู่ในสองหมู่บ้านก็เป็นเพียง 1 หน่วยบ้านเลขที่ที่ตั้งขึ้นเพื่อให้พวกเขามีสถานะทางทะเบียนเท่านั้นไม่ใช่การนับเป็นฐานข้อมูลครัวเรือนเหมือนครัวเรือนอื่นๆ