การเข้าถึงบริการสาธารณะและสวัสดิการจากภาครัฐของ
ชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย
ประชากรชนเผ่าพื้นเมืองไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะของรัฐได้เท่าเทียมกับประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ จากข้อมูลประชากรของ 4 ชนเผ่าพื้นเมือง ที่มีสัดส่วนประชากรขนาดเล็ก ประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปไม่ได้รับการศึกษา และประชากรยังเป็นกลุ่มไรัสัญชาติ
ประชากรมีสัดส่วนน้อย
การแบ่งการปกครองออกเป็นหมู่บ้านในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ทุรกันดารและห่างไกล จะมีการรวมกลุ่มบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกันเป็น 1 หมู่บ้านตามกฎหมาย ชุมชนของชนเผ่าพื้นเมืองทั้ง 8 ชุมชน 4 ชนเผ่าพื้นเมืองจึงเป็นชุมชนหนึ่งที่รวมอยู่กับหมู่บ้านทางการ และขนาดประชากรจึงมีสัดส่วนประชากรที่น้อยมากเมื่อเทียบกับประชากรในหมู่บ้านทั้งหมด
ประชากรอยู่ในกลุ่มไม่ได้รับการศึกษา
ประชากรของ 4 ชนเผ่าพื้นเมือง ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป มีสัดส่วนของการเป็นผู้ไม่ได้รับการศึกษาเกินกว่า 50 % ของประชากร
บุคคลไร้สัญชาติ
ประชากรของ 4 ชนเผ่าพื้นเมือง ยังมีประชากรที่ไร้สัญชาติ และประชากรที่อยู่ระหว่างการรอสัญชาติอยู่จำนวนหนึ่ง
การเข้าถึงสวัสดิการจากรัฐของชนเผ่าพื้นเมืองกลุ่มเปราะบางที่สุดในประเทศไทย
รัฐมีบทบาทและหน้าที่ในการสร้างความมั่นคงในชีวิตให้กับพลเมืองหรือประชากรของประเทศโดยการจัดให้มีสวัสดิการสังคม เช่น สวัสดิการในการรักษาพยาบาล ซึ่งได้มีการพัฒนาให้เป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานแบบถ้วนหน้าสำหรับประชาชนคนไทยทุกคน และมีการจัดสวัสดิการประเภทอื่นๆ ตามนโยบายทางการเมืองโดยพรรคการเมืองที่มาทำหน้าที่รัฐบาลจะมีการเปลี่ยนแปลงสวัสดิการที่มีลักษณะกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเช่น มาตรการช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งสวัสดิการเหล่านี้จะเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ ปัจจุบันมีระบบสวัสดิการโดยรัฐที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องใน 4 ประเภท ประกอบด้วย
ประชากรชนเผ่าพื้นเมืองกลุ่มเปราะบางที่สุดใน 8 ชุมชน 4 ชนเผ่าพื้นเมือง ประชากรอายุต่ำกว่า 20 ปีมีถึง 369 คน ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่น่าจะอยู่ในระบบการศึกษาและควรได้รับสวัสดิการนี้ แต่มีผู้ระบุว่าได้รับสวัสดิการนี้เพียง 35 คน และส่วนที่เหลือ 295 คนระบุไม่ได้รับสวัสดิการนี้ ทั้งนี้ด้วยเหตุผลที่ระบุไว้ข้างบนแล้ว ประกอบกับประชากรในกลุ่มชาวมอแกนและมานิเป็นประชากรที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษาด้วย
สวัสดิการด้านการศึกษา
เป็นสวัสดิการที่ภาครัฐจัดการให้กับเด็กและครอบครัวที่ดำเนินการมานานแล้ว โดยจัดให้มีการเรียนฟรี 15 ปี ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมีสวัสดิการที่เป็นความช่วยเหลือให้กับผู้ปกครองประกอบด้วย ค่าเล่าเรียน หนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียน เป็นสวัสดิการที่จัดให้แก่ครอบครัวเด็กทางอ้อม โดยทางโรงเรียนที่เด็กเรียนอยู่จะเป็นผู้จัดทำข้อมูลเด็กเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลของโรงเรียนและกระทรวงศึกษาธิการเพื่อขอรับสวัสดิการนี้ผ่านทางโรงเรียนโดยตรง ดังนั้นผู้ปกครองและ/หรือครอบครัวของเด็กจะไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับสวัสดิการด้านการศึกษาเหล่านี้
สวัสดิการด้านสาธารณสุข
ประเทศไทยมีระบบสวัสดิการด้านสาธารณสุขที่เรียกว่า "ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าครอบคลุมคนไทยทุกคน โดยแบ่งออกเป็น 3 ระบบใหญ่คือ
สวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ ครอบคลุมไปถึงบิดา มารดา คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของผู้เป็นข้าราชการและข้าราชการบำนาญ ปัจจุบันมีประชากรที่อยู่ในระบบนี้ประมาณ 5 ล้านคน
สวัสดิการรักษาพยาบาลของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม หมายถึงแรงงานที่ทำงานในสถานประกอบการที่จ่ายเงินสบทบเข้ากองทุนประกันสังคม คลอบคลุมประชากรที่เป็นแรงงานประมาณ 11 ล้านคน
สวัสดิการรักษาพยาบาลหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นสวัสดิการสำหรับประชาชนทั่วไปที่ไม่มีสิทธิตามข้อ 1. และ ข้อ 2. ข้างต้น โดยประชาชนต้องไปขึ้นทะเบียนกับสถานพยาบาลของรัฐ และจะได้รับการรักษาตามลำดับขั้นของสถานพยาบาลตั้งแต่ระดับตำบล อำเภอ จังหวัด โดยการส่งต่อผู้ป่วยของสถานพยาบาล
กลุ่มประชากรชนเผ่าพื้นเมืองกลุ่มเปราะบางที่สุด 8 ชุมชน 4 ชนเผ่าพื้นเมือง ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มได้รับสวัสดิการตามสิทธิบัตรทอง 30 บาท คือร้อยละ 78.8 ซึ่งเป็นสิทธิตามสวัสดิการรักษาพยาบาลหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สำหรับประชากรชนเผ่าพื้นเมืองร้อยละ 21.1 ระบุว่าไม่มีได้รับสวัสดิการนี้นั้น เป็นชนเผ่าพื้นเมืองมอแกนและมานิที่อยู่ในกลุ่มประชากรไร้สัญชาติและบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน
กลุ่มประชากรชนเผ่าพื้นเมืองเปราะบางทั้ง 8 ชุมชน 4 ชนเผ่าพื้นเมือง ส่วนใหญ่เป็นประชากรในกลุ่มอาชีพเกษตรกรรมและรับจ้างในภาคเกษตรกรรม โดยเฉพาะในกลุ่มชาวกะเหรี่ยงโพล่งและมละบริ ส่วนมานิและมอแกนส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มไม่ได้ประกอบอาชีพหรือเป็นประชากรที่ไม่มีอาชีพแน่นอน ซึ่งตามหลักการแล้วจะเป็นกลุ่มบุคคลที่ควรจะได้รับสวัสดิการนี้ แต่เนื่องด้วยการขอรับสวัสดิการด้านนี้จะต้องมีการลงทะเบียนขอรับสวัสดิการด้วยการกรอกแบบฟอร์ม “แบบลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ” และไปยื่นขอรับสิทธิ์ที่ธนาคารของรัฐ นั่นคือ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ และธนาคารกรุงไทย ทั้งนี้ประชากรในกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองเปราะบางเป็นประชากรที่อยู่ห่างไกล ทุรกันดาร และยากลำบากในการเดินทาง และมีอุปสรรคในการสื่อสารภาษาไทยเพราะไม่ได้รับการศึกษา จึงเข้าถึงสวัสดิการนี้จำนวนน้อย โดยมีเฉพาะในกลุ่มชาวกะเหรี่ยงโพล่งและมละบริที่ได้รับสวัสดิการนี้เกินกึ่งหนึ่ง ส่วนชาวมอแกนได้รับสวัสดิการนี้ไม่เกินร้อยละ 5 และชาวมานิในกลุ่มบ้านคลองหว๊ะหลังไม่ได้รับสวัสดิการนี้เลย เนื่องจากพวกเขาเคลื่อนย้ายที่อยู่ไปอยู่ในพื้นที่ป่าลึก ไม่ได้มีการประสานงานกับชุมชนหลัก ส่วนมานิในกลุ่มชุมชนบ้านโหล๊ะหารได้รับสวัสดิการนี้จำนวน 12 คน เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและอาสาสมัครชุมชนให้การช่วยเหลือพาไปดำเนินการได้เฉพาะกลุ่มคนหนุ่มสาวและสื่อสารภาษาไทยได้
สวัสดิการด้านอาชีพ
สวัสดิการด้านอาชีพ เป็นสวัสดิการเพื่อแก้ไขปัญหาด้านการประกอบอาชีพให้กับคนไทยที่ไม่ใช่ข้าราชการ และแรงงานในสถานประกอบการ เป็นกลุ่มประชากรที่อยู่ในกลุ่มอาชีพเกษตรกร ผู้ประกอบการอาชีพอิสระต่างๆ ที่ประสบปัญหาด้านการครองชีพ ปัจจุบันมีสวัสดิการหลักที่ดำเนินการอยู่คือ สวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน เป็นสวัสดิการที่รัฐบาลให้กลุ่มคนอาชีพดังกล่าวไปขึ้นทะเบียนขอรับสวัสดิการ และจะได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีวงเงินค่าใช้จ่ายในการครองชีพให้ตั้งแต่ 300 - 500 บาทต่อเดือน โดยอ้างอิงจากฐานรายได้ของผู้ที่ขึ้นทะเบียนไว้คือ ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/ปี จะได้รับวงเงิน 500 บาท/เดือน ผู้มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาท/ปี จะได้รับวงเงิน 300 บาท/เดือน ปัจจุบันมีคนไทยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอยู่ประมาณ 14.5 ล้านคน
สำหรับเกษตรกร จะมีสวัสดิการแก้ปัญหาผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรไว้เป็นการเฉพาะอีกส่วนหนึ่ง เป็นสวัสดิการเฉพาะกิจ เช่น เงินประกันรายได้จากการขายผลผลิต หรือเกิดความเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตรหลัก เช่น ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์ม และยาง
สวัสดิการสงเคราะห์
เป็นสวัสดิการที่รัฐจัดให้กับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ประกอบด้วย 3 กลุ่มหลัก ได้แก่
ผู้พิการ บุคคลที่เป็นคนไทยและอยู่ในเกณฑ์จะต้องขึ้นทะเบียนผู้พิการและขอรับสิทธิ์ผ่านองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นที่มีทะเบียนบ้านอยู่ จะได้รับเงินสวัสดิการรายละ 1,000 บาท/เดือน จากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปัจจุบันมีผู้พิการขึ้นทะเบียนจำนวน 1.2 ล้านราย
ผู้สูงอายุ เป็นคนไทยอายุตั้งแต่ 60 ปีบริบูรณ์ และขึ้นทะเบียนผู้สูงอายุกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีทะเบียนบ้านอยู่ จะได้รับเงินสวัสดิการตามกลุ่มอายุ คือ 60 - 69 ปี ได้รับ 600 บาท/เดือน อายุ 70 - 79 ปี ได้รับ 700 บาท/เดือน อายุ 80-89 ปี ได้รับ 800 บาท/เดือน และอายุ 90 ปีขึ้นไปได้รับ 1,000 บาท/เดือน ปัจจุบันมีผู้สูงอายะได้รับเบี้ยยังชีพอยู่ประมาณ 9 ล้านคน
เด็กแรกเกิด เป็นโครงการที่รัฐจัดการให้กับครอบครัวที่มีเด็กแรกเกิดจนถึงอายุครบ 6 ปี ด้วยการจ่ายเงินอุดหนุนให้กับครอบครัวเดือนละ 600 บาท ซึ่งผู้จะได้รับสิทธิต้องลงทะเบียนกับกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปัจจุบันมีผู้ได้รับสิทธิ์ดังกล่าว 2 ล้านราย
กลุ่มประชากรชนเผ่าพื้นเมืองเปราะบางทั้ง 8 ชุมชน 4 ชนเผ่าพื้นเมือง ได้รับสวัสดิการดังนี้
สวัสดิการเด็กแรกเกิด หรือเงินอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดถึง 6 ปี จากข้อมูลประชากรเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปีมีจำนวน 101 คนได้รับสวัสดิการสงเคราะห์เด็กแรกเกิดเพียง 33 คน โดยอยู่ในกลุ่มชาวกะเหรี่ยโพล่งเป็นส่วนใหญ่ รองลงมาเป็นชาวมละบริ และมานิ ส่วนชาวมอแกนเด็กในกลุ่มนี้ไม่ได้รับสวัสดิการเลย เพราะเด็กทุกคนอยู่ในกลุ่มไม่มีสถานะทางทะเบียนและไร้สัญชาติ การดำเนินการด้านสัญชาติส่วนราชการจะเร่งดำเนินการให้กับผู้ใหญ่ก่อน เด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปีจึงอยู่ในกลุ่มไม่ได้ดำเนินการด้านสัญชาติเลยสำหรับชาวมอแกน ซึ่งยังเป็นปัญหาทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการได้
สวัสดิการผู้สูงอายุ หรือเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ สำหรับประชากรอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปของชนเผ่าพื้นเมืองทั้ง 4 กลุ่มมีจำนวนเพียง 46 คน เป็นผู้ที่ได้รับสวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 33 คน เป็นกลุ่มกะเหรี่ยงโพล่งมากที่สุดคือ 22 คน ที่เหลือเป็นชาวมานิ 5 คน และมละบริ 4 คน ส่วนมอแกนได้รับสวัสดิการนี้เพียง 1 คน
สวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้พิการ ประชากรชนเผ่าพื้นเมืองกลุ่มเปราะบางทั้ง 4 กลุ่ม มีผู้พิการที่ได้รับสวัสดิการนี้จำนวน 8 คน เป็นชาวกะเหรี่ยงโพล่ง 6 คน มานิ และมละบริ 2 คน ซึ่งสวัสดิการนี้เป็นสวัสดิการเฉพาะผู้พิการในทุกประเภท และการศึกษาครั้งนี้ยังไม่ได้สำรวจลักษณะความพิการของบุคคลจึงยังไม่สามารถรวบรวมจำนวนผู้พิการทั้งหมดในแต่ละชุมชน