สรุปและข้อเสนอแนะ

การศึกษาวิจัยครั้งนี้จึงได้รวบรวมข้อเสนอทั้งในภาคปฏิบัติและภาคนโยบายเพื่อเป็นแนวทางในการบูรณาการเพื่อการจัดการข้อมูลที่นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหประชาชาติไว้ดังนี้


ข้อเสนอในเชิงนโยบาย

บริบทของข้อมูลเป็นสิ่งบ่งบอกถึงระบบนิเวศวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ข้อมูลที่ได้รับการเก็บรวบรวมและจัดการโดยตนเองของกลุ่มชาติพันธุ์จึงเป็นระบบข้อมูลที่ครอบคลุมทุกแง่มุมทั้งประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม จริยธรรม และบรรทัดฐานของกลุ่มชาติพันธุ์และเป็นสิ่งบ่งชี้ของความเป็นชุมชนท้องถิ่นและชนเผ่าพื้นเมืองได้เป็นอย่างดี ดังนั้นความเป็นเจ้าของข้อมูลและการนำไปสู่การประยุกต์ใช้ข้อมูลที่เรียกว่าอำนาจอธิปไตยข้อมูลจึงเป็นการแสดงถึงวิถีชีวิตที่แท้จริงของชนเผ่าพื้นเมืองที่เป็นคุณค่าในเชิงของการวิจัยและการนำเสนอทางวิชาการ ตลอดจนการพัฒนาชุมชนในรูปแบบที่สนองต่อการตัดสินใจของชนเผ่าพื้นเมือง

ประเทศไทยไม่มีการจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองไว้อย่างเป็นระบบ จึงทำให้หน่วยงานภาครัฐไม่สามารถระบุได้ว่ามีชนเผ่าพื้นเมืองอยู่ในประเทศกี่กลุ่มชาติพันธุ์และจำนวนประชากรเท่าใด และด้วยเหตุนี้จึงมีการปฏิเสธการมีอยู่ของ “ชนเผ่าพื้นเมือง” ในประเทศไทย จึงทำให้ข้อมูลสำหรับคนพื้นเมืองไม่อยู่ในลำดับความสำคัญสำหรับการกำหนดการพัฒนาและ/หรือส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาตนเองของชนเผ่าพื้นเมือง การเป็นกลุ่มชาติพันธุ์จึงถูกจัดวางให้เป็นกลุ่มประชากรเร่งรัดพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น ประชากรชนเผ่าพื้นเมืองบนพื้นที่สูงหรืออยู่ในเขตภูเขา การดึงศักยภาพของชนเผ่าพื้นเมืองที่มีความโดดเด่นด้านความหลากหลายทางวัฒนธรรมและความมีเอกลักษณ์เพื่อมาสนับสนุนการพัฒนาประเทศจึงไม่เกิดขึ้น แม้ว่าทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้วางกลยุทธ์หลักไปในเรื่องการท่องเที่ยวก็ตาม ทั้งนี้อาจเป็นไปได้ว่าภาครัฐได้ติดกับดักของการตีความด้านสิทธิมนุษยชนสากลที่ “ห้ามมีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลด้วยเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม ฯลฯ” และพยายามรักษาการเป็นประเทศที่มีการเลือกปฏิบัติในเรื่องเชื้อชาติ ภาษา ศาสนา ฯลฯ ในระดับน้อยมาก และด้วยเหตุนี้จึงทำให้ไม่มีข้อมูลประชากรที่แท้จริงของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย

ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง จึงขอเสนอให้มีการเพิ่มข้อมูลการสำรวจประชากรของภาครัฐในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เพิ่มการสำรวจข้อมูลชนเผ่าพื้นเมืองเชื่อมโยงกับข้อมูลอื่นๆ ด้วย เพื่อให้เกิดความแน่ชัดว่าประเทศไทยมีประชากรชนเผ่าพื้นเมืองอยู่และจะได้สร้างกระบวนการให้เกิดการยอมรับการมีอยู่ของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย และจะได้นำไปเป็นข้อมูลนโยบายสาธารณะเพื่อการสร้างแรงบันดาลใจให้ชนเผ่าพื้นเมืองได้นำศักยภาพของตนเองสนับสนุนการพัฒนาประเทศที่ไม่ใช้ประชากรในกลุ่มเปราะบางและต้องรอรับการช่วยเหลือและ/หรือแก้ไขปัญหาให้กับภาครัฐเพียงฝ่ายเดียวอีกต่อไป

ข้อเสนอในเชิงปฏิบัติการ

แม้ว่าจะไม่สามารถปฏิเสธบทบาทของภาครัฐในการเป็นหน่วยงานหลักเพื่อการรวบรวมข้อมูลที่ต้องริเริ่มจากส่วนกลางได้ แต่สิ่งที่ชนเผ่าพื้นเมือมองหาคือสิทธิในการระบุตัวตนและการมีส่วนร่วมที่มีความหมายในการตัดสินใจและการอธิบายตัวตนของชนเผ่าพื้นเมือง ที่มุ่งเน้นไปที่ “ช่องว่าของการนำข้อมูลไปใช้งาน” เพื่อส่งมอบผลประโยชน์ที่ชนเผ่าพื้นเมืองจะสามารถแสดงออกถึงศักยภาพทางวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ทางชาติพันธุ์ให้เกิดผลประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศอย่างภาคภูมิใจ การใช้ข้อมูลเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยการวางแผนพัฒนาที่เกิดจากภายในที่แท้จริงของชนเผ่าพื้นเมืองจะเติมเต็มให้เกิดการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ

ดังนั้นในภาคปฏิบัติการจึงขอเสนอให้มีการสร้างการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการจัดการข้อมูลของชนเผ่าพื้นเมือง และข้อมูลที่ผ่านการรวบรวมด้วยตัวตนชนเผ่าพื้นเมืองจะสะท้อนถึงความเชี่ยวชาญของชนเผ่าพื้นเมืองในการผลิตและจัดการข้อมูลผ่านการกำกับดูแลที่จะส่งผลถึงเอกสารงานวิจัยและเอกสารวิชาการต่างๆ เกี่ยวกับชนเผ่าพื้นเมืองจะออกมาในรูปแบบของการไม่ถูกเลือกปฏิบัติ และที่สำคัญข้อมูลจะเป็นสื่อสำคัญในการสร้าง “พื้นที่การรับรู้” ระหว่างแนวคิดที่ขัดแย้งของผู้คนในสังคมได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้องค์กรขับเคลื่อนในขบวนของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย จึงควรวางแผนโครงสร้างระบบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับชนเผ่าพื้นเมืองอย่างเป็นระบบ โดยการนำแนวคิดและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยด้านข้อมูลของชนเผ่าพื้นเมืองมาเป็นหลักการสำคัญเพื่อวางแผนดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จำแนกลักษณะข้อมูลและเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อการเผยแพร่สู่สาธารณะอย่างเป็นระบบ และที่สำคัญ การจัดหาเครื่องมือสนับสนุนการดำเนินการในระดับชุมชนให้สามารถจัดการข้อมูลในพื้นที่ให้เชื่อมโยงกับระบบฐานข้อมูลกลางทั้งในส่วนของการเก็บรวบรวมและในส่วนของการนำไปใช้ประโยชน์ โดยอาจจำเป็นต้องมีแอปพลิเคชั่นที่เป็น Dynamic มาเป็นเครื่องมือสนับสนุนการบริหารจัดการและการทำงานเป็นทีม