มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโควิด 19

การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อผู้คนเป็นวงกว้าง เพราะทำให้ธุรกิจหยุดชะงัก คนจำนวนมากต้องตกงาน

เป็นเหตุให้รัฐบาลไทย โดยกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ออกมาตรการต่าง ๆ อย่างเร่งด่วนมาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน ประกอบด้วยมาตรการต่างๆ ดังนี้

มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา

ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ครั้งที่ 1

เป็นมาตรการที่รัฐบาลไทยได้กำหนดให้มีการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโควิด - 19 ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา ประกอบด้วย 5 มาตรการหลักดังนี้

5 มาตรการ

(1) ค่าเสี่ยงภัยให้บุคลากรทางการแพทย์ :แพทย์/สัตวแพทย์ ผลัดละ 1,500 บาท/คน สำหรับพยาบาล/อื่น ๆ ผลัดละ 1,000 บาท/คน

(2) ลดภาระบรรเทาภาระการจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า และคืนค่าประกันการใช้ไฟฟ้า

(3) ลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของนายจ้างและลูกจ้าง มาตรา 33 จาก 5% เหลือ 4% มาตรา 39 จาก 9% เหลือ 7%

(4) ลดภาระค่าธรรมเนียม ค่าเช่า ค่าตอบแทนในการ ให้บริการของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ยกเว้นค่าเช่าที่ราชพัสดุ 1 ปีให้กับผู้เช่าประเภทผู้อาศัยและเกษตร และ

(5) สร้างความเชื่อมั่นในระดับตลาดทุน เพิ่มวงเงินกองทุน SSF จาก 2 แสนบาท เป็น 4 แสนบาท

12 มาตรการ

(1) สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 150,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% เวลา 2 ปีสินเชื่อไม่เกิน 20 ล้านบาท/ราย

(2) พักเงินต้นลดดอกเบี้ยและขยายระยะเวลาชำระหนี้ แก่ลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

(3) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่อนคลายหลักเกณฑ์การปรับ โครงสร้างหนี้

(4) สินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงานของสำนักงานประกันสังคม วงเงินสินเชื่อ 30,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยเริ่มต้นร้อยละ 3/ปี เวลา 3 ปี

(5)คืนสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการในประเทศ ลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย จากร้อยละ 3 เหลือร้อยละ 1.5 (เม.ย.-ก.ย.63)

(6) เร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการส่งออก (ยื่นออนไลน์ รับภายใน 15 วัน, ยื่นแบบปกติรับภายใน 45 วัน)

(7) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายเงินงบประมาณ ปี 2563 โดยผ่อนปรนหลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้าง และปรับลดขั้นตอน ระยะเวลาดำเนินการ

(8) หักเพิ่มภาษีดอกเบี้ยจ่าย จาก 1 เท่า เป็น 1.5 เท่า (Soft loan 150,000 ล้านบาท)

(9) บรรเทาภาระการจ่ายค่าน้ำค่าไฟและคืนค่าประกัน การใช้ไฟ

(10) ลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของนายจ้างและลูกจ้าง มาตรา 33 จาก 5% เหลือ 4% มาตรา 39 จาก 9% เหลือ 7%

(11) กรณีไม่ปลดแรงงาน หักรายจ่ายค่าจ้างงานได้ 3 เท่า และ

(12) บรรเทา ภาระค่าธรรมเนียม ค่าเช่า ค่าตอบแทนในการให้บริการของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ เลื่อนการจ่ายค่าเช่าที่ราชพัสดุ สำหรับผู้เช่าประเภทผู้ประกอบการในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง

8 มาตรการ

(1)สนับสนุนเงิน คนละ 5,000 บาท/เดือน เป็นเวลา 3 เดือน จากการปิดที่เสี่ยงต่อการระบาดชั่วคราว จำนวน 3 ล้านคน ด้วยการลงทะเบียนผ่าน www.เราไม่ทิ้งกัน.com สำหรับผู้อยู่ในระบบประกันสังคม เพิ่มสิทธิกรณีว่างงาน 50% ของค่าจ้าง โดย 1.กรณีนายจ้างไม่ให้ทำงาน รับเงินไม่เกิน 180 วัน 2.กรณีรัฐสั่งหยุดรับเงินไม่เกิน 90 วัน

(2) สินเชื่อ ฉุกเฉิน 10,000 บาท/ราย อัตราดอกเบี้ย 0.1% ต่อเดือน โดยไม่ต้องมีหลักประกัน

(3)สินเชื่อพิเศษ 50,000 บาท/ราย อัตราดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน ต้องมีหลักประกัน

(4) สำนักงานธนานุเคราะห์รับจำนำดอกเบี้ยต่ำ คิดดอกเบี้ยใน อัตราไม่เกิน 0.125% ต่อเดือน

(5)ยืดการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาถึงเดือนสิงหาคม 2563

(6) หักลดหย่อนเบี้ย ประกันสุขภาพเพิ่มขึ้น เพิ่มจาก 15,000 บาท เป็น 25,000 บาท

(7) ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับค่าเสี่ยงภัยให้ บุคลากรทางการแพทย์

(8) ฝึกอบรมเพิ่มทักษะอาชีพหรือจัดกิจกรรมเพื่อสังคมรวมถึงนักศึกษาที่ยังหางานไม่ได้ และขยายฝึกอบรมผ่านภาคีเครือข่าย เช่น มูลนิธิโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กบข. เป็นต้น



7 มาตรการ

(1) สินเชื่อรายย่อยไม่เกิน 3 ล้านบาท/ราย โดยให้ สินเชื่อไม่เกิน 3 ล้านบาท/ราย ดอกเบี้ย 3% ใน 2 ปีแรก

(2) ยืดการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ภ.ง.ด. 50 เป็นภายใน 31 สิงหาคม 2563 และ ภ.ง.ด. 51 เป็นภายใน 30 กันยายน 2563

(3) ยืดการเสียภาษีสรรพากร ให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ โดยเลื่อนกำหนดเวลายื่นแบบและชำระภาษีทุกประเภท 1 เดือน

(4) ยืดการเสียภาษีสรรพสามิตให้กิจการสถานบริการ ออกไป 3 เดือน ตั้งแต่ 1 มีนาคม – 31 พฤษภาคม 2563 เป็นภายใน 15 กรกฎาคม 2563

(5) ยืดการเสียภาษีสรรพสามิตให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน จากภายใน 10 วัน เป็นภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ระยะเวลา 3 เดือน

(6) ยกเว้นอากรขาเข้าสินค้าที่ เกี่ยวข้องกับการป้องกันและรักษา COVID-19 เป็นเวลา 6 เดือน ถึงช่วงกันยายน 2563

(7) ยกเว้นภาษีและ ลดค่าธรรมเนียมจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (Non-Bank) ให้เจ้าหนี้ไม่ใช่สถาบันการเงิน ตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 – 31 ธันวาคม 2564

2 มาตรการ

(1) เลื่อนการจ่ายค่าเช่าที่ราชพัสดุสำหรับผู้เช่าประเภทผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวถึงกันยายน 2563

(2) ปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับ เครื่องบินไอพ่นจาก 4.76 บาทต่อลิตรเป็น 0.20 บาทต่อลิตรถึง 30กันยายน 2563 เพื่อดูแลสายการบินที่เป็น เครื่องบินในประเทศ



มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา

ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ครั้งที่ 2

เป็นมาตรการที่รัฐบาลไทยได้กำหนดให้มีการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโควิด - 19 ที่มีมาอย่างต่อเนื่องและนำไปสู่การประกาศพื้นที่ควบคุมสูงสุดรวมทั้งสิ้น 28 จังหวัดของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ในการนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ผู้ประกอบการและประชาชนจากสถานการณ์ที่ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะขยายวงกว้างมากน้อยเพียงใด กระทรวงการคลังและสถาบันการเงินเฉพาะกิจจึงได้ดำเนินมาตรการด้านการเงินต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการที่มีอยู่แล้วซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันที และมาตรการเพิ่มเติมอื่นๆ ประกอบไปด้วยมาตรการเสริมสภาพคล่อง (สินเชื่อและค้ำประกันสินเชื่อ) และมาตรการบรรเทาภาระหนี้สิน (พักชำระหนี้) โดยมีมาตรการที่สำคัญสรุปได้ ดังนี้

  1. มาตรการเสริมสภาพคล่อง (สินเชื่อและค้ำประกันสินเชื่อ)

เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสCOVID-19 ให้มีสภาพคล่องสำหรับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและการดำเนินธุรกิจ กระทรวงการคลังร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสถาบันการเงินเฉพาะกิจได้ดำเนินมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำและมาตรการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการและประชาชน โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1.1 มาตรการเสริมสภาพคล่องสำหรับผู้ประกอบการ ประกอบด้วย

1.1.1 ธนาคารออมสิน ได้ดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ประกอบการ ดังนี้ 1) โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) สำหรับผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง (Soft Loan ท่องเที่ยว) วงเงินคงเหลือประมาณ 7,800 ล้านบาท 2) โครงการสินเชื่อฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย วงเงินคงเหลือประมาณ 4,200 ล้านบาท และ 3) โครงการสินเชื่อออมสิน SMEs มีที่ มีเงิน วงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาท โดยทุกโครงการรับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564

1.1.2 ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ได้ดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) (สินเชื่อ Extra Cash) วงเงินคงเหลือประมาณ 5,900 ล้านบาท รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564

1.1.3 บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ได้ดำเนินโครงการค้ำประกันสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อย ดังนี้ 1) โครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ไทยสู้ภัยโควิด วงเงินโครงการ 5,000 ล้านบาท ภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 9 2) โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro ไทยสู้ภัยโควิด วงเงินโครงการ 5,000 ล้านบาท ภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs ระยะที่ 4 ทั้ง 2 โครงการรับคำขอค้ำประกันสินเชื่อถึงวันที่ 31 มกราคม 2564 และ 3) โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS Soft Loan พลัส วงเงินคงเหลือประมาณ 54,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีคุณสมบัติตาม Soft Loan ธปท. และ Soft Loan ท่องเที่ยวของธนาคารออมสิน รับคำขอค้ำประกันสินเชื่อตามระยะเวลารับคำขอสินเชื่อของแต่ละโครงการ

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังร่วมกับ ธปท. ได้มีการออกพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (Soft Loan ธปท.) ซึ่งมีวงเงินคงเหลือประมาณ 370,000 ล้านบาท รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 18 เมษายน 2564

1.2 มาตรการเสริมสภาพคล่องสำหรับประชาชน

1.2.1 ธนาคารออมสิน ได้ดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับประชาชน ดังนี้ 1) โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) (สินเชื่อฉุกเฉิน) วงเงินคงเหลือประมาณ 2,700 ล้านบาท และ 2) โครงการสินเชื่อเสริมพลังฐานราก วงเงินคงเหลือประมาณ 10,000 ล้านบาท โดยทั้ง 2 โครงการได้ขยายเวลารับคำขอสินเชื่อออกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564

1.2.2 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับประชาชน ดังนี้ 1) โครงการสินเชื่อฉุกเฉิน วงเงินคงเหลือประมาณ 11,000 ล้านบาท โดยได้ขยายเวลารับคำขอสินเชื่อออกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 2) โครงการสินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพ (Sufficient Loan : SL) วงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาท 3) โครงการสินเชื่อ New Gen Hug บ้านเกิด วงเงินโครงการ 60,000 ล้านบาท และ 4) โครงการสินเชื่อระยะสั้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Jump Start Credit) วงเงิน 100,000 ล้านบาท ทุกโครงการสิ้นสุดการจ่ายเงินกู้วันที่ 30 มิถุนายน 2564

  1. มาตรการบรรเทาภาระหนี้สิน (พักชำระหนี้)

สถาบันการเงินเฉพาะกิจแต่ละแห่งได้มีการจัดกลุ่มลูกหนี้ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มสีเขียว คือกลุ่มที่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ปกติ 2) กลุ่มสีเหลือง คือกลุ่มที่กลับมาชำระหนี้ได้บางส่วนไม่เต็มจำนวนที่ต้องจ่าย และ 3) กลุ่มสีแดง คือกลุ่มที่มีปัญหาไม่สามารถชำระหนี้ได้ โดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจจะมีการพิจารณามาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้แต่ละรายเพิ่มเติมเป็นการเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็น การขยายเวลาการชำระหนี้ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และการให้สินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง รวมถึงมีการติดต่อลูกค้าเพื่อช่วยเหลือในเชิงรุก สำหรับลูกค้าที่อยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามประกาศของ ศบค. ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะประสาน ธปท. เพื่อให้มีการดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนในส่วนของธนาคารพาณิชย์ในลักษณะเช่นเดียวกันกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจต่อไป

กระทรวงการคลังมั่นใจว่ามาตรการด้านการเงินดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ มาตรการค้ำประกันสินเชื่อ และมาตรการเพื่อบรรเทาภาระหนี้สิน จะช่วยบรรเทาปัญหาสภาพคล่องของผู้ประกอบการ ให้สามารถดำเนินธุรกิจและรักษาการจ้างงาน รวมไปถึงช่วยบรรเทาภาระของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่รัฐบาลได้มีมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดไม่ให้ขยายเป็นวงกว้างออกไป โดยกระทรวงการคลังจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและพร้อมที่จะออกมาตรการที่เหมาะสมมาดูแลเศรษฐกิจไทยอย่างทันท่วงทีเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป