สิ่งบ่งชี้การเข้าไม่ถึงบริการจากภาครัฐของ
ชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยที่เปราะบางที่สุด

การเปลี่ยนแปลงในระบบการจัดการข้อมูลด้วยการเข้าสู่การจัดการข้อมูลด้วยระบบดิจิทัล เป็นการปฏิรูปการบริหารจัดการข้อมูลเพื่อการให้บริการของภาครัฐมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งมุ่งหวังให้มีการบริการที่เป็นธรรม รวดเร็ว แม่นยำ ทันสมัย และโปร่งใส เป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยได้มีการดำเนินการและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และในสถานการณ์โควิด-19 นี้จึงได้เห็นปรากฎการณ์ของการดำเนินมาตรการดูแลและเยียวยาประชาชนของภาครัฐใช้การดำเนินการผ่านระบบเครือข่ายข้อมูลออนไลน์เชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานภาครัฐเพื่อการดูแลประชาชน แต่ประชากรชนเผ่าพื้นเมืองกลุ่มเปราะบางที่สุดก็ยังคงมีปัญหาอุปสรรคในการเข้าถึงบริการภาครัฐในระบบดิจิทัล ผลจากการศึกษาครั้งนี้
มีข้อบ่งชี้สำคัญ
คือ

ประชากรไร้สัญชาติ

ก่อนปี พ.ศ. 2563 ประชากรในกลุ่มชาติพันธุ์มานิ และมอแกนเกือบทั้งหมด อยู่ในกลุ่มประชากรที่ไร้สัญชาติ แต่ภายหลังปี พ.ศ. 2563 มานิได้รับสัญชาติแล้วเป็นส่วนใหญ่ แต่มอแกนยังคงมีประชากรที่ไร้สัญชาติอยู่ในสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 43 ของประชากรชาวมอแกน ซึ่งบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยจะเป็นผู้ไม่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง และไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จึงเป็นกลุ่มประชากรที่เข้าไม่ถึงการบริการจากภาครัฐ


ความไม่รู้หนังสือ

ปัญหาเรื่องการไม่รู้หนังสือของชนเผ่าพื้นเมืองยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญลำดับต้นๆ ของการเข้าถึงบริการจากภาครัฐ ประชากรอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ถึงร้อยละ 51.55

ขาดอุปกรณ์สื่อสารดิจิตัล

การเข้าถึงบริการจากภาครัฐในระบบดิจิตัล โทรศัพท์มือถือที่เป็นสมาร์ทโฟนซึ่งสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ เป็นเครื่องมือสำคัญ แต่ประชากรชนเผ่าพื้นเมืองส่วนใหญ่ ยังไม่มีความสามารถในการจัดหามาได้ ด้วยราคาที่ค่อนข้างแพงของสมาร์ทโฟน ประกอบกับการไม่รู้หนังสือของพวกเขา จึงทำให้การใช้สมาร์ทโฟนสำหรับการเข้าถึงบริการของรัฐเป็นปัญหาสำคัญ

สถานะชุมชนบริวาร

ชุมชนของชนเผ่าพื้นเมืองทั้ง 4 กลุ่มชาติพันธุ์ มีสถานะเป็นหมู่บ้านบริวาร หรือ หย่อมบ้าน ของหมู่บ้านที่มีสถานะทางทะเบียนตามกฎหมายลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2475 สถานะการเป็นหย่อมบ้านหรือหมู่บ้านบริวาร จึงมีสิทธิเข้าถึงการบริการสาธารณะและ/หรือการพัฒนาตามโครงการของรัฐน้อยกว่าหมู่บ้านหลัก


ยกตัวอย่างประชากรชาวมอแกนในเกาะช้างเป็นประชากรไร้สัญชาติและอยู่ระหว่างดำเนินการด้านสัญชาติทั้งหมดมีฐานข้อมูลทางทะเบียนอยู่ที่หมู่บ้านเกาะเหลาจึงไม่ถูกนับเป็นประชากรของหมู่บ้านเกาะช้าง สำหรับชาวมานิทั้งสองหมู่บ้านยังมีการเคลื่อนย้ายไปตามแหล่งอาหาร การมีชื่ออยู่ในสองหมู่บ้านก็เป็นเพียง 1 หน่วยบ้านเลขที่ที่ตั้งขึ้นเพื่อให้พวกเขามีสถานะทางทะเบียนเท่านั้นไม่ใช่การนับเป็นฐานข้อมูลครัวเรือนเหมือนครัวเรือนอื่นๆ

การจัดอันดับเร่งรัดพัฒนาหมู่บ้านหลักให้อยู่ในหมู่บ้านก้าวหน้า จึงส่งผลต่อประชากรมอแกนและมานิที่อาจถูกเหมารวมไปในกลุ่มประชากรหลักด้วย

การจัดการข้อมูลภาครัฐ

ข้อมูลพื้นฐานด้านประชากรของประเทศไทย ยังคงเป็นแบบกระจายไปตามหน่วยงานระดับกระทรวง ที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ได้แก่

1. กระทรวงมหาดไทย โดย กรมการปกครอง ทำหน้าที่หลักในการเก็บรวบรวมข้อมูลสถานะบุคคล ที่เป็นประชากรของประเทศทั้งหมด กรมการพัฒนาชุมชน ทำหน้าที่สำรวจข้อมูลความจำเป็น พื้นฐานของประชากร เพื่อชี้วัดด้านคุณภาพชีวิต ของประชากรไทยโดยดำเนินการสำรวจทุกครัวเรือน เป็นประจำปีละ 1 ครั้ง กรมที่ดินทำหน้าที่ออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินให้กับประชาชนที่มีสิทธิ์ถือครองที่ดิน และเป็นเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินของประชาชนที่มีอยู่เพียงประเภทเดียวที่มีลักษณะกรรมสิทธิ์โดยสมบูรณ์นั่นคือ โฉนดที่ดินและประชาชนที่มีสถานะทางทะเบียนเป็นพลเมืองของประเทศเท่านั้นที่ได้รับกรรมสิทธิ์นี้

2. กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลสิทธิ ประโยชน์ของประชาชนคนไทยในการเข้าถึงบริการสุขภาพ ในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลต่างๆ

3. กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม ทำหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลสิทธิประชาชน ผู้ใช้แรงงานในระบบที่ขึ้นทะเบียนกับกองทุนประกันสังคม

4. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทำหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลสิทธิประชาชน ในกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางสังคม 3 กลุ่มหลัก คือ ผู้พิการ ผู้สูงอายุ และเด็กแรกเกิดในครัวเรือนยากจน

จากการดำเนินมาตรการดูแลและเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ของภาครัฐในครั้งนี้ ทำให้เห็นว่ายังมีปัญหาด้านการจัดการข้อมูลที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะข้อมูลประชากรกลุ่มเปราะบางที่สุดที่ยังไม่มีในระบบฐานข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะประชากรในกลุ่มผู้ไร้สัญชาติหรืออยู่ระหว่างการดำเนินการด้านสัญชาติอย่างเช่น มอแกน นอกจากนั้นยังมีประชากรที่ไม่สามารถจัดการข้อมูลในระดับพื้นที่ได้ เช่น มานิ มละบริ ซึ่งเป็นประชากรในหมู่บ้านบริวารของหมู่บ้านหลักได้ถูกละเลยจากหน่วยเก็บข้อมูลระดับพื้นที่จึงไม่มีข้อมูลในระบบฐานข้อมูลของภาครัฐ ประชากรกลุ่มนี้จึงเสียโอกาสในการเข้าถึงบริการของภาครัฐ และภาครัฐเองก็ประสบปัญหาที่นำไปสู่ข้อขัดแย้งจากการเรียกร้องสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับจากประชากรกลุ่มที่ได้รับผลกระทบและเสียสิทธิอันพึงมีอย่างต่อเนื่อง และนี่คือปัญหาของการจัดการข้อมูลที่ยังบูรณาการกันอย่างไม่สมบูรณ์ของภาครัฐ ขณะเดียวกันประชากรกลุ่มเปราะบางที่เป็นชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยเองก็ยังไม่มีการดำเนินการด้านข้อมูลที่เป็นระบบและชัดเจนจากหน่วยงานภาคปฎิบัติในพื้นที่ทั้งที่เป็นหน่วยงานพัฒนาภาครัฐและองค์กรพัฒนาภาคเอกชน